ชีววิทยาของปลวก
ปลวก เป็นแมลงสังคมชนิดหนึ่ง มีชีวิตความเป็นอยุ่ที่ซับซ้อน
แบ่งเป็น 3 วรรณะมีรูปร่างและหน้าที่ที่แตกต่างกันชัดเจน คือ
- วรรณะปลวกงาน มีหน้าที่ในการหาอาหารมาเลี้ยงสมาชิกภายในรังและดูแลซ่อมแซมรังและหาแหล่งอาหารใหม่
- วรรณะทหาร มีหน้าที่ป้องกันศัตรูภายในรังคอยระวังภัยผู้ที่จะเข้ามาทำลายสมาชิกภายในรัง
- วรรณะสืบพันธุ์ หรือเรียกว่า แมลงเม่ามีหน้าที่สืบพันธุ์ขยายพันธุ์และ หาแหล่งขยายพันธุ์ใหม่ๆส่วนในประเทศไทย ปลวกที่สร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างบ้านและเศรษฐกิจเรามากที่สุด คือ สายพันธุ์Coptotermes spp แม้ว่าปลวกบางชนิดจะเป็นศัตรู ที่ทำความเสียหาย แต่ในทางนิเวศน์วิทยาแล้วปลวกกว่า 80% จัดเป็นแมลงที่มีคุณประโยชน์ โดยปลวกจัดเป็น ผู้ย่อยสลาย (Decomposer) พบว่า 3 ใน 4 ของขยะรรมชาติ เช่น ซากพืช เศษใบไม้ ท่อนไม้หรือ ต้นไม้ที่ยืนต้นตาย ปลวกจะทำหน้าที่ช่วย ในการย่อยสลายให้ผุพังและเปลี่ยนเป็น ฮิวมัส หรืออินทรีวัตถุภายในดินก่อให้เกิดการหมุนเวียน อย่างรวดเร็วของธาตุอาหารในดิน ในระบบนิเวศน์วิทยาที่ยังสมบูรณ์ ปลวกยังเกี่ยวพันอยู่ในสายโซ่อาหารที่ซับซ้อน(Food chain) มีการถ่ายเทพลังงานกัน ก่อให้เกิดการเพิ่มผลผลิตของมวลชีวภาพ โดยปลวกจัดเป็นแหล่งอาหาร ที่เกื้อหนุนกับมนุษย์ และผู้บริโภคอื่นๆในป่าธรรมชาติอีกมากมาย
ชนิดของปลวกจำแนก ตามแหล่งที่อยู่อาศัยสามารถจำแนกได้ 2 ประเภท คือ
- ปลวกที่อาศัยอยู่ในเนื้อไม้
• ปลวกไม้แห้ง (Drywood termite)
• ปลวกไม้เปียก (Damp wood termite)
- ปลวกที่อาศัยอยู่ในดิน
• ปลวกสร้างรังอยู่ในดิน (Subterranean nest)
• ปลวกที่สร้างรังขนาดเล็กบนดิน หรือบนต้นไม้ (Epigeal or arboreal nest)
• ปลวกสร้างรังดินขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ (Mound)
ปัจจุบันพบแล้วประมาณ 2,750 ชนิด ใน 7 วงศ์ มีขนาดตั้งแต่ขนาดจิ๋วถึงขนาดใหญ่ ปากเป็นแบบกัดกิน มีปีกลักษณะเป็นแผ่นเยื่อบาง (membranous) ชนิดที่มีปีก มีตารวมเจริญดี ทั้งปีก หน้าและปีกหลังมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก จนเกือบเรียกได้ว่าเท่ากัน ชนิดที่ไม่มีปีกอาจมีหรือไม่มีตารวม และอาจมีตาเดี่ยว 2 ตา หรือไม่มีเลย หนวดส่วนใหญ่มีขนาดสั้น ส่วนใหญ่เป็นแบบ สร้อยร้อยลูกปัด (moniliform) บางชนิดเป็นแบบเส้นด้าย (filiform) จำนวน 9 - 30 ปล้อง ชนิดที่มีปีก 2 คู่ จะมีขนาดเท่ากันทั้ง 2 คู่ สามารถสลัดปีกทิ้งได้ ขาเป็นแบบใช้เดิน (walking legs) ฝ่าเท้าส่วนใหญ่มี 4 ปล้อง แต่บางชนิดมีถึง 6 ปล้อง มีปล้องท้องทั้งหมด 10 ปล้อง และจะพบรยางค์ที่ส่วนท้อง (styli) 1 คู่ (ปลวกในวงศ์ Mastotermitidae และ Hodotermitidae รยางค์มี 5 - 8 ปล้อง แต่ในวงศ์อื่นพบเพียง 2 ปล้อง) อวัยวะเพศมักเสื่อมหรือไม่มี แพนหางมีขนาดสั้น จำนวน 1 - 8 ปล้อง หลายชนิดส่วนหัวมีรอยยุบ เรียกว่า fontanelle เป็นช่องเปิดเล็กๆอยู่บริเวณกลาง หัวทางด้านบนหรือระหว่างตาประกอบ ระหว่างทางตอนท้ายของส่วนหัวกับอกปล้องแรกมีแผ่นแข็งที่เรียกว่า cervical sclerite ทำให้คอมีความแข็งแรง ปลวกส่วนใหญ่มักพบในเขตร้อนหรือเขต ร้อนชื้น
บางชนิดพบในเขตหนาว จัดเป็นแมลงสังคม (social insects) ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่นับหมื่นๆตัว อยู่ภายในรังที่สร้างไว้ในดินที่เรียกว่า จอมปลวก (termitarium) หรือตามโพรงต้นไม้ เรามักจะพบเห็นปลวกที่มีลำตัวขาวซีดลักษณะคล้ายมด บางครั้งจึงมีคนเรียกปลวกเหล่านี้ว่า white ant
ปลวกมีการแบ่งเป็นวรรณะ (case) ต่างๆ ดังนี้
- วรรณะสืบพันธุ์ (primary reproductive caste) ประกอบด้วย
ปลวกแม่รังหรือนางพญา (queen) และปลวกพ่อรัง (king) เป็นปลวกที่มีปีก อวัยวะเพศ และตารวมที่เจริญดี ใน 1 รัง จะมีแม่รังเพียง 1 ตัว แต่อาจมีพ่อรังได้หลายตัว แม่รังและพ่อรังจะอาศัยอยู่ในโพรงนางพญา (hollow royal chamber) ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนที่ลึกที่สุดของรังเพื่อปกป้องแม่รัง แม่รังมีขนาดใหญ่มากที่สุด ถ้าเทียบปลวกงานเป็นมนุษย์ แม่รังจะมีน้ำหนักมากถึง 10 ตัน (10,000 กก.) และมีอายุยืนยาว บางชนิดมีอายุถึง 50 ปี ในช่วงฤดูฝนจะมีการผลิตปลวกวรรณะสืบพันธุ์ที่เราเรียกกันว่าแมลงเม่า (alates)ออกมานับพันตัว เพื่อให้บินออกมาจับคู่ผสมพันธุ์ เมื่อผสมพันธุ์เสร็จจะสลัดปีกทิ้งและเดินตามกันเพื่อหาช่องว่างหรือรอยแตกภายในดิน หลังจากนั้นจะวางไข่ และสร้างรังใหม่ต่อไป ซึ่งในการหน้า 2 วางไข่ครั้งแรกนี้จะสามารถวางไข่ได้น้อยมาก ประมาณ 20 ฟอง และจะฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 7 วัน ทั้งพ่อรังและแม่รังจะช่วยกันเลี้ยงดูตัวอ่อนจนเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งทำหน้าที่เป็นปลวกงานรุ่นแรก เมื่อวางไข่ครั้งแรกแล้วส่วนท้องของแม่รังตัวใหม่นี้จะขยายใหญ่ขึ้นหลายเท่าจากเดิม เรียกว่า physogastric เพื่อผลิตไข่ให้ได้มากขึ้น แม่รังที่สมบูรณ์จะสามารถวางไข่ได้ 2,000 - 3,000 ฟองต่อวัน ปลวก Macrotermes subhyalinus ในแอฟริกา มีเส้นผ่าศูนย์กลางลำตัว 3.5 ซม. และมีความยาว 14 ซม. สามารถวางไข่ได้ถึง 30,000 ฟองต่อวัน การที่ลำตัวขยายใหญ่มากนี้ ทำให้ความสามารถในการเคลื่อนไหวลดลง ทำให้ต้องมีปลวกงานคอยรับใช้ คอยป้อนอาหาร ทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา แม่รังจะปล่อยฟีโรโมนเพื่อควบคุมการทำงานของวรรณะอื่นๆ ทั่วทั้งรัง ให้เกิดการแบ่งงานเป็นสังคมขึ้นมา ส่วนปลวกพ่อรังจะมีขนาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังจากผสมพันธุ์กับปลวกแม่รัง และจะยังผสมพันธุ์ได้อีกหลายครั้งตลอดชีวิต นี่เป็นอีกข้อแตกต่างหนึ่งที่แตกต่างจากสังคมมด เพราะมดตัวผู้จะมีชีวิตได้อีกไม่นานหลังจากผสมพันธุ์และสามารถผสมพันธุ์ได้เพียงครั้งเดียว
- วรรณะสืบพันธุ์รอง (primary reproductive caste) ประกอบด้วย
ปลวกที่มีปีกสั้นมาก ตารวมขนาดเล็ก หรือบางทีอาจเป็นปลวกที่ไม่มีปีก มีลำตัวขาวซีด ดูคล้ายปลวกงาน ทำหน้าที่ทดแทนแม่รังในการแพร่พันธุ์
- วรรณะปลวกงาน (worker caste) ประกอบด้วย
ปลวกตัวอ่อน และตัวเต็มวัยที่เป็นหมัน มักไม่มีตารวม กรามมีขนาดเล็ก ไม่มีปีก ลำตัวอ่อนนุ่มขาวซีด มองดูคล้ายมด จึงมีคนเรียกปลวกงานว่า มดขาว (white ants)จัดว่าเป็นวรรณะแรงงานหลักของรัง ทำหน้าที่เก็บสะสมอาหารและป้อนอาหารให้แม่รัง ปลวกทหาร และปลวกตัวอ่อนที่เกิดใหม่ ทำความสะอาดระหว่างปลวกงานด้วยกันเอง ตลอดจนถึงการซ่อมแซมและต่อเติมรังใหม่ ตลอดจนถึงทางเดินภายในรัง รวมถึงการเพาะเลี้ยงราไว้เป็นอาหาร
- วรรณะปลวกทหาร (soldier caste) ประกอบด้วย
ปลวกตัวเต็มวัยที่เป็นหมัน ลำตัวใหญ่กว่าปลวกงาน อาจมีหรือไม่มีตารวม หัวกะโหลกเป็นเกราะแข็ง มีกรามขนาดใหญ่ หรือบางทีขยายยาวลักษณะเป็นคีม ใช้ต่อสู้กับผู้รุกราน ปลวกใน วงศ์ย่อย (sub-family Nasutitermitinae) ปลวกทหารสามารถปล่อยของเหลวจากส่วนหัวยื่นยาวคล้ายจมูกหรืองวงใช้ขับไล่ศัตรู หรืออาจมีรูเล็กๆบนส่วนหัวที่เรียกว่า fontanelle ไว้ปล่อยสารขับไล่ศัตรูเช่นกันและลักษะของ fontanelle นี้ยังสามารถพบได้ในวงศ์ Rhinotermitidae อีกด้วย ปลวกทหารบางชนิดมีส่วนหัวที่กลมมน (phragmotic)เพื่อใช้ปิดอุโมงค์ที่แคบเพื่อไม่ให้มดเข้ามารุกรานภายในรัง และเมื่อมีปลวกตัวที่ปิดอุโมงค์เกิดพลาดท่า ปลวกที่คอยเตรียมพร้อมด้านหลังก็จะเข้ามาแทนที่ และเมื่อมีการบุกรุกจากรอยแตกที่ใหญ่เกินกว่าจะใช้ส่วนหัวปิดได้ จะมีปลวกทหารรูปแบบอื่นๆออกมาล้อมรอยแตก แล้วกัดหรือฉีดสารเหนียวออกจากส่วนหัวที่มีลักษณะคล้ายงวง ขณะเดียวกันนั้นปลวกงานก็จะทำการซ่อมแซมรอยแตกเป็นเหตุทำให้ตายเป็นจำนวนมาก เป็นรูปแบบของการสละชีพเพื่อการป้องกันรัง การเคาะส่วนหัวที่แข็งแรงกับพื้นเป็นจังหวะ ในปลวกบางชนิดมีปลวกทหาร 2 ขนาด (dimorphic) คือขนาดเล็กและสามเท่าของขนาดเล็ก เรามักจะพบเห็นปลวกทหารจำนวนมาก คอยคุ้มกันและระวังภัยให้กับปลวกงานที่กำลังออกหาอาหาร ซ่อมแซมหรือขยายรัง การที่มีฟันกรามขยายใหญ่มากนี้ทำให้ไม่สามารถกินอาหารเองได้ ทำให้ต้องคอยการป้อนอาหารจากปลวกงานปลวกมีการเจริญเติบโตแบบไม่สมบูรณ์แบบ (Incomplete metamorphosis)กล่าวคือเมื่อปลวกฟักออกจากไข่ก็จะมีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัยเพียงแต่มีขนาดเล็กว่าในปลวกวรรณะสืบพันธุ์ตัวอ่อนจะยังไม่มีปีก และระบบสืบพันธุ์จะยังไม่เจริญสมบูรณ์ยังไม่สามารสืบพันธุ์ได้ ปลวกตัวตัวอ่อนนี้จะมีการลอกคราบหลายครั้ง และการลอกคราบครั้งสุดท้ายกลายเป็นตัวเต็มวัย การแบ่งปลวกตามชนิดของจุลินทรีย์ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารในกระบวนการกินและการย่อยอาหาร ปลวกจะไม่สามารถผลิตน้ำย่อยหรือเอนไซม์ออกมาย่อยอาหารได้เอง แต่จะต้องพึ่งจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่อาศัยร่วมอยู่ภายในระบบทางเดินอาหารของปลวก เช่น โปรโตซัว แบคทีเรีย หรือเชื้อรา ให้ผลิตเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น cellulase และ lignocellulase ออกมาย่อย cellulose หรือ lignin ซึ่งเป็นองค์ประกกอบหลักของอาหารที่ปลวกกินเข้าไป ให้เปลี่ยนเป็นพลังงาน หรือสารประกอบในรูปที่ปลวกสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้
***ปรึกษาปัญหา เรื่อง ปลวก พร้อม สำรวจพื้นที่กรุงเทพและต่างจังหวัด ฟรี!! ไม่มีวันหยุด ***
กดโทร>>
เราสามารถแบ่งปลวกตามชนิดของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
- ปลวกชั้นต่ำ ส่วนใหญ่เป็นปลวกชนิดที่กินเนื้อไม้เป็นอาหาร จะอาศัยโปรโตซัว ซึ่งอาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร
- ปลวกชั้นสูง ส่วนใหญ่เป็นปลวกชนิดที่กินดิน ซากอินทรีย์วัตถุ ไลเคน รวมถึงพวกที่กินเศษไม้ ใบไม้ และเพาะเลี้ยงเชื้อราไว้เป็นอาหาร จะมี วิวัฒนาการที่สูงขึ้น เพื่อปรับตัวให้อยู่ในสภาพนิเวศที่แห้งแล้งหรือขาดอาหารได้ดี โดยอาศัยจุลินทรีย์จำพวก bacteria หรือเชื้อราในระบบทางเดินอาหาร ทำหน้าที่สร้างเอนไซม์เพื่อช่วยย่อยอาหารให้กับปลวก ซึ่งแบคทีเรียบางชนิด จะมีความสามารถในการจับไนโตรเจนจากอากาศ มาสร้างเป็นกรดอะมิโนที่ปลวกสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ และบางชนิดสามารถสร้างเอนไซม์ที่ประสิทธิภาพในการย่อยสลายสารพิษบางอย่างที่สลายตัวได้ยากในสิ่งแวดล้อม ช่วยในการผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยอาหาร ปลวกกับจุลินทรีย์และอาหาร
ปลวกกินเนื้อไม้ (cellulose) เป็นอาหารซึ่งเป็นแหล่งพลังงานชั้นดีของปลวก
ดังจะเห็นได้จากพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาเมื่อเราเผาไม้ โดยการที่ปลวกสามารถย่อยสลายเนื้อไม้ก็เพราะอาศัยโปรโตซัว
ดังเช่น จีนัส Trichonympha และจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในส่วนที่เรียกว่า ileum ของลำไส้ตอนท้ายซึ่งขยายเป็นกระเปาะเล็กๆ เป็นภาวะการพึ่งพาอาศัยซึ่ง (symbiosis) ระหว่างปลวกกับโปรโตซัว โดยต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ เฉพาะปลวกงานเท่านั้นที่สามารถย่อยสลายเนื้อไม้ได้ โดยปลวกงานจะใช้อาหารข้นที่ถูกย่อยแล้วจากทางเดินอาหาร ขับออกทางปากหรือทวารหนัก
ป้อนเป็นอาหารแก่ปลวกตัวอ่อน ปลวกแม่รัง ปลวกแม่รัง และปลวกทหาร เรียกกระบวนการนี้ว่า "trophallaxis" ซึ่งก็ถือว่าเป็นการถ่ายทอดโปรโตซัวที่อยู่ภายในระบบทางเดินอาหารจากรุ่นสู่รุ่น และยังมีปลวกชั้นสูง"higher termites", ที่สามารถผลิตเอมไซม์สำหรับย่อยเนื้อไม้ได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะปลวกในวงศ์ Termitidae แต่อย่างไรก็ตาม ในกระเพาะอาหารของปลวกวงศ์นี้ยังพบ แบคทีเรียและสิ่งที่เกิดจากการย่อยสลายในขั้นต้นอยู่ด้วย ปลวกหลายชนิดมีการทำสวนรา(fungal gardens) โดยเฉพาะราในสกุล Termitomycesไว้เป็นอาหารจากมูลก้อนเล็กๆ และเศษใบไม้นับร้อยแห่งทั่วรัง โดยเริ่มจากการที่ปลวกกินรานี้เข้าไป สปอร์ของราก็จะเข้าไปอยู่ในกระเพาะของปลวกโดยไม่ทำอันตรายใดๆกับปลวก เมื่อปลวกถ่ายออกมา เชื้อรานี้ก็จะงอกในสวนราเป็นอาหารของปลวกต่อไปนอกจากเนื้อไม้แล้วยังมีปลวกชนิดที่กินดินและอินทรีย์วัตถุต่างๆ รวมถึงไลเคนอีกด้วย
การสร้างรัง
ปลวกเป็นสัตว์สังคมที่มีความสามารถในการสร้างสถาปัตยกรรมและสัญชาตญาณในการอยู่รอดอย่างดีเยี่ยม ปลวกจะสร้างรังในซากต้นไม้ที่ติดกับพื้นดิน หรือสร้างรังบนดินที่เราเรียกกันว่า "จอมปลวก" (" Mounds") โดยใช้น้ำลายและมูลที่ผนึกดินเข้าด้วยกันทำให้โครงสร้างมีความแข็งแรงและสร้างอุโมงค์คดเคี้ยวไปมามากมาย รูปทรงต่างๆกัน ทำให้บางครั้งสามารถแยกบางชนิดได้โดยดูจากรูปทรงของจอมปลวกนี้ เช่น ปลวกบางชนิดจะสร้างรังเป็นรูปลิ่มสูง และมีแนวแกนกลางที่ยาว วางตัวในแนวเหนือใต้เสมอ พบว่ารังปลวกในแอฟริกามีความสูงถึง 9 เมตร (30 ฟุต) ซึ่งถ้าเทียบอัตราส่วนกับมนุษย์แล้วจะสูงมากกว่า 3 กิโลเมตร เป็นที่อยู่อาศัยของปลวกนับล้านตัว ปลวกสามารถสำรวจลงไปในดินลึกกว่า 20 เมตร และนำแร่โลหะขึ้นมาเป็นวัสดุในการสร้างรัง
วิธีการนี้ทำให้นักสำรวจทองคำสามารถค้นพบแหล่งที่เป็นสายแร่ทองคำได้ รังที่สร้างขึ้นนี้ได้รับความชื้นที่ปลดปล่อยมาจากดินและซากเนื้อไม้ที่กำลังถูกย่อยสลายภายในรังใต้ดิน และการมีอุโมงค์ที่คดเคี้ยวไปมา และมีโพรงสำหรับระบายอากาศให้อากาศไหลเวียนได้ตลอดเวลา
จึงทำให้รังปลวกสามารถรักษาระดับสมดุลของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ได้ และนอกจากนี้ยังมีผลทำให้อุณหภูมิคงที่ และเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 1 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งวัน ทำให้ปลวกสามารถมีชีวิตรอดได้แม้จะอยู่ในทะเลทรายก็ตาม
ประโยชน์และโทษของปลวก
ปลวกมีประโยชน์ในแง่ของการเป็นผู้ย่อยสลายเศษไม้ ใบไม้ ต่างๆ มูลสัตว์ กระดูก ซากสัตว์แม้กระทั่งมูลของปลวกเองและซากของตัวที่ตายแล้ว ให้ย่อยสลายกลายเป็นอินทรีย์วัตถุ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ในแอฟริกาใช้ปลวกทหารในการรักษาแผลอักเสบ ใช้ปลวกแม่รังเป็นยาบำรุงเพศ ดินจากจอมปลวกสามารถพอกรักษากระดูก นอกจากนี้ยังสามารถรักษาคางทูม และโรคอีสุกอีไส แต่อย่างไรก็ตามปลวกจัดว่าเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญทางเศรษฐกิจอย่างสูงคาดว่าประมาณ 10 % ของปลวกที่มนุษย์รู้จักทั้งหมด ปลวกสามารถ ทำลายไม้ยืนต้น ไม้ซุง ไม้ยืนต้น ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ต่างๆ ตลอดจนเข้าทำลายโครงสร้างของอาคารบ้านเรือนที่เป็นไม้ ให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่ารังปลวกจะปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก (greenhouse effect)
ประวัติเชิงวิวัฒนาการ
เชื่อกันว่าปลวกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแมลงสาบและตั๊กแตนตำข้าว ถูกจัดรวมกันใน superorder Dictyoptera ปลวกเกิดในมหายุค Paleozoic โดยคาดว่ามีวิวัฒนาการจากบรรพบุรุษที่มีลักษณะคล้ายแมลงสาบ เนื่องจากปลวกและแมลงสาบมีความเหมือนกันหลายๆอย่าง เช่น พบว่าแมลงสาบบางชนิดกินไม้ผุๆ เป็นอาหาร อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยมีทุกวัยอยู่ด้วยกัน และยังมีโปรโตซัวบ้างชนิดอยู่ในทางเดินอาหารเพื่อช่วยย่อยเซลลูโลสในเยื่อไม้ โปรโตซัวที่พบในแมลงสาบชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับชนิดที่พบในปลวกโบราณ มีการค้นพบว่ามีแบคทีเรียในทางเดินอาหารของแมลงสาบในสกุล Cryptocercus มีประวัติของเผ่าพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับที่พบในปลวกมากกว่าแมลงสาบชนิดอื่นๆ อีกทั้งแมลงสาบในสกุลนี้ยังมีลักษณะทางสัณฐานวิทยาและการมีพฤติกรรมเป็นแมลงสังคมอีกด้วย